ไข้ทับระดู คืออะไร? อาการเป็นอย่างไร?
ไข้ทับระดู คือ อาการป่วยไข้ของผู้หญิงที่มักจะเป็นในช่วงระหว่างที่มีประจำเดือน เนื่องจากช่วงที่มีประจำเดือน ร่างกายจะอ่อนแอ ภูมิต้านทานลดลง จึงเรียกว่า “ไข้ทับระดู” หรือ มีไข้ในช่วงที่มีประจำเดือนนั่นเอง
ไข้ทับระดู แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ไข้ทับระดูไม่มีสภาวะอื่นแอบแฝง มีอาการคล้ายกับไข้หวัด อ่อนเพลีย สามารถรับประทานยาลดไข้เพื่อบรรเทาอาการได้
ไข้ทับระดูที่มีสภาวะโรคแอบแฝง มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลัง ปวดท้องน้อย คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีตกขาวร่วมด้วย
หากมีอาการจะรุนแรงของไข้ทับระดู อาจเป็นสัญญาณของโรคที่แอบแฝง เช่น “ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ” (Pelvic inflammatory disease/ PID) คือ ภาวะที่มีการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบน คือ บริเวณมดลูก (endometritis) ท่อนำไข่ (salpingitis) รังไข่ (oophoritis) และเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน (pelvic peritonitis)
ในช่วงที่มีประจำเดือน สาวๆ ควรดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ พักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ย่อยง่าย เช่น พืชผักผลไม้ต่างๆ งดการดื่มเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์ละเว้นการสูบบุหรี่ และเปลี่ยนผ้าอนามัยไม่ต่ำกว่า 2 ชิ้นในหนึ่งวันเพื่อความสะอาดของสุขอนามัยส่วนตัว และควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีประจำเดือน เพราะจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้สูง เนื่องจากเวลาที่มีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิด เลือดจึงเป็นอาหารชั้นดีหล่อเลี้ยงแบททีเรียให้เจริญเติบโต เมื่อเกิดการติดเชื้อจึงทำให้โรคค่อนข้างรุนแรง เกิดเป็นไข้ทับระดูขึ้น
ที่สำคัญควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองในช่วงที่มีประจำเดือน หากเกิดอาการผิดปกติไปจากเดิม ควรมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที