ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตคนทำงานออฟฟิศ

เนื่องจากรูปแบบการทำงานในปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จำกัด การนั่งในรถ, นั่งบนโต๊ะทำงาน และ ผูกติดอยู่กับจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดกลุ่มอาการ "ออฟฟิศซินโดรม" ผู้ป่วยที่เข้าได้กับกลุ่มอาการนี้ในประเทศไทยพบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55 เป็น ร้อยละ 60 แต่ในประเทศพัฒนาพบมากถึงร้อยละ80 และมักพบในช่วงอายุวัยทำงานคือ 16 - 44 ปี

กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ที่พบบ่อยมี 3 ระบบ ได้แก่

  1. อาการทางระบบการมองเห็น อาการในกลุ่มนี้เกิดจากการมองจอคอมพิวเตอร์นานๆ หรือนั่งทำงานอยู่ในตำแหน่งที่มีแสงไม่เหมาะสม

  2. อาการทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการนั่งทำงานในห้องปรับอากาศที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือห้องที่มีมลภาวะจากหมึกเครื่องพิมพ์ หมึกเครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น

  3. อาการทางระบบกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่พบได้บ่อยสุด ส่วนใหญ่มาด้วยอาการปวด หรือ อาการเมื่อยล้า

ในรายที่เริ่มเป็นใหม่ๆจะมีอาการเฉพาะช่วงพัก, ช่วงเว้นว่างที่ผู้ป่วยไม่ได้จดจ่ออยู่กับการทำงานหรือ ช่วงเวลาก่อนนอน ส่วนผู้ป่วยรายที่มีอาการหนักขึ้นอาจมีกล้ามเนื้อหดเกร็งค้าง ล๊อคข้อไว้ ทำให้เกิดอาการเจ็บแปล๊บขึ้นมาขณะเคลื่อนไหวร่างกายส่วนนั้นๆ บางรายมีความรู้สึกคล้ายอาการชา และรู้สึกยิบๆ บริเวณผิวหนังร่วมด้วย อาการทางระบบกล้ามเนื้อเหล่านี้เกิดจากการปล่อยให้ร่างกายเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ มักเกิดขึ้นที่บริเวณ คอ บ่า ไหล่ มากที่สุด รองลงมาคือ หลังส่วนล่าง ส่วนบริเวณข้อมือและ แขน จะพบมากเป็นอันดับสาม

การรักษามี 3 ส่วน ดังนี้

  1. ปรับเลี่ยง-ปรับลด-ปรับงด-ปรับแก้ ได้แก่

  • ลดปริมาณงาน

  • แก้ไขท่านั่งทำงานและ ท่านั่งขับรถให้ถูกต้อง

  • เลี่ยงการนั่งในรถและ นั่งท่าเดิมๆบนโต๊ะทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน

  • งดความเครียดของตัวเองด้วยวิธีบำบัดต่างๆไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย, การฟังดนตรี จนถึงการปรับสู่อิริยาบถนอน เป็นต้น

  • การรักษาแบบแรกนี้ผู้ป่วยจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องหรือ ทดลองปรับเปลี่ยนได้ด้วยตนเองก็ได้

  1. ปรับยืด-ปรับเหยียด-ปรับกด-ปรับประคบ ได้แก่

  • การออกแบบท่ากายบริหารเหยียดยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่มีอาการ โดยผู้เชี่ยวชาญ

  • การนวด กดจุด หรือการใช้เครื่องมือประคบทางกายภาพบำบัด

  1. ปรับท่า-ปรับเพิ่ม-ปรับรักษา ได้แก่

  • การออกแบบท่าทางเพื่อให้ร่างกายส่วนนั้นๆได้เปรียบเชิงกลขณะทำงาน

  • การสอดแทรกท่ากายบริหารเพื่อเพิ่มความคงทนของกล้ามเนื้อที่มีอาการเข้าไปในการออกกำลังกายประจำวันของผู้ป่วย ซึ่งจะต้องวิเคราะห์และออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

  • การรักษาด้วยการดัดข้อ การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยเข็ม ฝังเข็ม หรือฉีดยาลงบนกล้ามเนื้อบริเวณที่มีอาการ