โรคต้อหิน
ต้อหิน (Glaucoma) โรคต้อหิน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคความดันตาสูง โรคนี้ภาษาอังกฤษ เรียก Glaucoma การเกิดต้อหินนั้นไม่จำเป็นต้องมีความดันตาสูงเสมอไป เราจึงอาจเรียกโรคนี้ว่าเป็น โรคตา โรคซึ่งมีการทำลายเซลล์ประสาทตาในจอตา (Retinal ganglion cell) ต้อหินเป็นโรคที่เซลล์ประสาทในจอตาถูกทำลายจนตายไปเรื่อยๆ และการมองเห็น
กลไกการเกิดต้อหิน
ส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมของร่างกาย ทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลาย อาการสำคัญที่พบบ่อย คือความดันในตาสูง ในภาวะปกติน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา (Aqueous Humor) มีการไหลเข้าออกในลูกตาอย่างสมดุล หากมีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตามาก หรือการไหลออกได้ช้า ทำให้ความดันในตาเพิ่มสูงขึ้น อาจเกิดอย่างช้าๆ หรือเฉียบพลัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค
ทำไมคนไข้ต้อหินจึงมีความดันลูกตาสูงกว่าคนทั่วไป
ลักษณะปกติของลูกตาจะมีการหมุนเวียนของน้ำภายในลูกตาอย่างสมดุลผ่านทางระบายน้ำบริเวณมุมตาดำ (trabecular meshwork) คนไข้ต้อหินมีความผิดปกติที่ทางระบายน้ำนี้ ลักษณะการผิดปกติแบ่งเป็นสองชนิด
1. ต้อหินชนิดมุมปิด เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างของตา ความดันในตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เกิดขึ้นเฉียบพลันจะมีอาการ คือ ปวดตา หรือปวดศีรษะข้างเดียวกันร่วมด้วย มีตาแดงภายใน 30-60 นาที และมีแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ และมองเห็นลดลง มีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย และในกรณีเกิดขึ้นเรื้อรัง มุมของม่านตาจะค่อยๆปิดลง ผู้ป่วยมักปวดเรื้อรัง เป็นๆหายๆโดยไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นโรค
2. ต้อหินชนิดมุมเปิด พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากเนื้อเยื่อกรองน้ำเลี้ยงลูกตาค่อยๆทำงานมีประสิทธิภาพลดลง ความดันในตามักสูงขึ้นและทำลายขั้วประสาทตาในที่สุด ซึ่งในระยะแรกของโรค ชนิดมุมเปิดนี้จะไม่มีอาการแสดง ในช่วงแรกลานสายตาแคบลงเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถสังเกตได้ จนเมื่อประสาทตาถูกทำลายไปมาก การมองเห็นจะลดลงอย่างชัดเจน และจะค่อยๆทำลายมากขึ้น จนส่งผลให้ตาบอดได้ ในบางรายความดันในตาไม่สูง ขั้วประสาทตาถูกทำลายไปเรื่อยๆ ทำให้ลานสายตาแคบลง
ปัจจัยเสี่ยง
ความดันในตาสูง
อายุมากกว่า 60 ปี
มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน
มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง
ใช้เสตียรอยด์เป็นเวลานาน โดยเฉพาะยาหยอดตาที่มีเสตียรอยด์
มีประวัติอุบัติเหตุทางตา หรือโรคทางตาอื่นๆ
สายตาสั้นมาก มีโอกาสเกิดโรคชนิดมุมเปิด สายตายาวมาก มีโอกาสเกิดโรคชนิดมุมปิด มากกว่าคนสายตาปกติ
เริ่มแรกจะต้องวัดการมองเห็นอยู่ในเกณฑ์ก่อนว่าปกติหรือไม่ ที่เน้นสำหรับการตรวจต้อหิน คือการวัดความดันลูกตา ซึ่งเป็นการตรวจที่สำคัญมากของการตรวจต้อหินเพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวที่ควบคุมได้ นอกจากนั้นยังตรวจการทำงานและรูปร่างลักษณะของขั้วประสาทตาซึ่งเป็นอวัยวะที่กระทบกระเทือนโดยตรงจากต้อหิน
การรักษาโรคต้อหินเรื้อรัง
การใช้ยา ( Medication ) มีทั้งเป็นรูปยาหยอดตา และยากิน
การผ่าตัด ( Trabeculectomy )
การยิงเลเซอร์ ( Laser trabeculoplasty ) ใช้เมื่อการใช้ยาไม่ได้ผลเช่นกัน แต่ประสิทธิผลด้อยกว่าการผ่าตัด